เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ทำตอนไหน อย่างไร มีผลดีไหม

เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว

สารบัญการทำนา ด้วยเทคนิค “เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว”

 

เทคนิคการทำนาแบบ เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว

การทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว คือ เทคนิคการดึงน้ำออกจากนาข้าว หรือ ปล่อยน้ำในนาข้าวให้แห้งลงไป จนดินเริ่มแตกระแหงในบางช่วงของการเพาะปลูก ทดแทนการทำนาในรูปแบบเดิมที่มักจะปล่อยให้ข้าวแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา

โดยคำว่า “เปียก” หมายถึง นาข้าว ที่มีน้ำขังประมาณ 5 – 10 ซม. และ “แห้ง” คือ นาข้าว ที่มีระดับน้ำต่ำกว่าหน้าดินประมาณ 15 ซม. หรือ สังเกตได้จากดินที่จะเริ่มแห้งแตกระแหง

การทำนาเปียกสลับแห้งนั้น จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มการแตกกอของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเติบโตในแนวข้างมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกินปุ๋ย ของต้นข้าวอีกด้วย

ตารางวิธีใส่ปุ๋ยนาข้าว 3 ครั้ง ให้ได้ผลผลิตสูง อย่างยั่งยืน

สอบถามข้อมูลเทคนิค เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว หรือ การปลูก – ใส่ปุ๋ยข้าวเพิ่มเติมได้ที่:

หรือ ติดต่อเรา

 

ข้อดีของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

  • ทำให้รากของต้นข้าวได้รับอากาศ และ ออกซิเจน อย่างเต็มที่ ช่วงเสริมสร้างการเจริญเติบโตของรากใหม่ และ ช่วยเพิ่มการแตกกอได้มากขึ้น
  • ทำให้รากของต้นข้าวเกิดความกระหายในช่วงสั้นๆ เมื่อเติมปุ๋ย และ เติมน้ำลงไปในภายหลัง ต้นข้าวก็จะสามารถกินปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เมื่อใส่ปุ๋ยลงในร่องดินที่แห้งแตกระแหง จะทำให้เนื้อปุ๋ยลงไปในดินได้ลึกขึ้น เปรียบเสมือนการฝังกลบปุ๋ย ช่วยลดการสูญเสีย และ การระเหิด ระเหย ของปุ๋ยได้
  • เมื่อระดับน้ำลดลง ก็จะทำให้ต้นข้าวได้รับแสงแดดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ข้าวสามารถสังเคราะห์แสง และ สร้างพลังงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านข้าง และ ด้านล่าง หรือ การแตกกอ และ แตกราก ของต้นข้าว ทดแทน การเจริญเติบโตด้านบน หรือ “การหนีน้ำ” ของข้าว ซึ่งอาจทำให้ข้าวสูงมากเกิน เสี่ยงต่อการล้มเมื่อเก็บเกี่ยว
  • ช่วยส่งเสริมให้มีไส้เดือนในนาข้าว ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยอินทรีย์วัตถุมาเป็นสารอาหารพืช
  • ช่วยส่งเสริมการเจริญเติมโตของจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ในนาข้าว ทำให้จุลินทรีย์ได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการข้าวเมาตอซัง
  • ช่วยลดอาการอวบน้ำของต้นข้าว ซึ่งทำให้ข้าวอ่อนแอต่อโรค และ แมลง

 

ข้อเสีย / ข้อจำกัดของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

  • ควรทำตามระยะเวลา และ ขั้นตอน ที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ข้าวยังคงได้รับน้ำ และ ความชื้น ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
  • ควรหลีกเลี่ยงการทำแห้งในช่วงข้าวตั้งท้อง เพราะข้าวจะต้องการน้ำ และ อาหาร ปริมาณมาก เพื่อการสร้างรวง และ สร้างเมล็ด
  • ต้องทำในพื้นที่ที่สามารถควบคุมระดับน้ำในนาข้าวได้สะดวก สามารถดูดน้ำ เข้า – ออก ได้ตามระยะเวลาที่เราต้องการ
  • ควรระมัดระวังการคุมหญ้า และ วัชพืช อื่นๆให้ดีขึ้น ในช่วงที่ปล่อยนาข้าวให้แห้งลงไป
  • ต้องมีกระบวนการ และ ขั้นตอน ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อกำหนด และ ควบคุมระดับน้ำ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

 

วิธีการ – ช่วงเวลา ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

เทคนิคเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวนั้น นิยมนำมาใช้ในช่วงระยะข้าวแตกกอ โดยมักจะทำให้สอดคล้องกับระยะเวลาการใส่ปุ๋ยในนาข้าว โดยจะปล่อยให้น้ำในนาข้าวแห้งลง ในช่วงเวลาประมาณ 14 – 15 วัน ก่อนการให้ปุ๋ย รอบที่ 2 และ รอบที่ 3 ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกรากใหม่ พร้อมกับทำให้รากของต้นข้าวเกิดความกระหายชั่วคราว เมื่อใส่ปุ๋ย และ เติมน้ำตามเข้าไป ก็จะทำให้ข้าวสามารถกินปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ และ มีประสิทธิภาพ

การใช้เทคนิคเปียกสลับแห้งนี้ ก็จะทำให้การแตกกอ แตกรากใหม่ และ การเจริญเติบโตของต้นข้าว เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง ต้นข้าวทนต่อโรค และ แมลง มีการแตกกอ และ แตกราก ในแนวข้างเพิ่มมากขึ้น ต้นไม่สูงเพราะไม่ต้องโตหนีน้ำ จึงช่วยลดความเสี่ยงจากอาการต้นล้ม พร้อมทั้งยังช่วยลดอาการอวบน้ำของต้นข้าว ซึ่งจะทำให้เสี่ยงจากโรค และ แมลงอีกด้วย

  • ครั้งที่ 1 คือการปล่อยให้น้ำแห้ง 10 – 15 วัน หรือ จนกว่าดินจะเริ่มแห้งแตกระแหง โดยจะเริ่มปล่อยให้แห้งช่วงก่อนการใส่ปุ๋ยในรอบที่ 2 หรือ ภายหลังการใส่ปุ๋ยรอบแรก ประมาณ 5 – 10 วัน
  • ครั้งที่ 2 คือการปล่อยให้น้ำแห้ง 10 – 15 วัน หรือ จนกว่าดินจะเริ่มแห้งแตกระแหง ก่อนการใส่ปุ๋ยรอบที่ 3 หรือ ภายหลังการใส่ปุ๋ยรอบที่ 2 ประมาณ ประมาณ 5 – 10 วัน

เมื่อดินเริ่มแห้งแตกระแหง ให้ทำการใส่ปุ๋ยลงไปในร่องดินก่อน แล้วจึงค่อยสูบน้ำเข้าในลำดับถัดไป ซึ่งจะเปรียบเสมือนการฝั่งกลบปุ๋ยลงในดิน มีส่วนช่วยในการลดการระเหิดระเหยของปุ๋ย ประกอบกับความกระหายของรากต้นข้าวจากสภาวะแห้ง เมื่อเติมน้ำเข้าไป ก็จะทำให้ต้นข้าวสามารถกินปุ๋ยได้อย่างเต็มที่ และ มีประสิทธิภาพมาขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจากกรมกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ข้อมูลเพิ่มเติมการปลูกข้าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *