คู่มือการใส่ปุ๋ย และ ปลูกทุเรียนทุกระยะ
สารบัญ
- ปุ๋ยทุเรียน
- ปุ๋ยทุเรียนเล็ก
- ปุ๋ยทุเรียนใหญ่
- ปุ๋ยเร่งใบทุเรียน
- ปุ๋ยสะสมอารหาร ทำดอกทุเรียน
- ปุ๋ยทุเรียนติดผล
- ปุ๋ยทุเรียนเป็นลูก
- แนวทางการปลูกทุเรียน
- โรคทุเรียน
- ธาตุอาหารในทุเรียน
- พันธุ์ทุเรียน
ปุ๋ยทุเรียน
ปุ๋ยทุเรียนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ 1. ปุ๋ยคลอไรด์ 2. ปุ๋ยซัลเฟต หรือ ปุ๋ยซัลเฟตแท้ 100% และ 3. ปุ๋ยเกล็ดระบบน้ำ หรือ ฉีดพ่นทางใบ
1. ปุ๋ยคลอไรด์ คือปุ๋ยเคมีมาตรฐานที่พบได้โดยทั่วไป โดยมักมีส่วนผสมของธาตุอาหารคลอไรด์จากวัตถุดิบปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ โดยปุ๋ยคลอไรด์อาจมีส่วนผสมของธาตุอาหารซัลเฟอร์ (S) หรือไม่ก็ได้แตกต่างกันไปในแต่ละสูตร
- ข้อดี ของปุ๋ยคลอไรด์ในสวนทุเรียน: เป็นปุ๋ยที่หาซื้อได้ง่าย มีสูตรให้เลือกหลากหลาย และ มักมีราคาต่อหน่วยธาตุอาหาร ที่ถูกกว่าปุ๋ยซัลเฟต หรือ ปุ๋ยเกล็ด
- ข้อด้อย ของปุ๋ยคลอไรด์ในสวนทุเรียน: ควรระมัดระวังเมื่อใช้งานกับต้นทุเรียนเล็ก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อธาตุอาหารคลอไรด์ หากได้รับในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ใบเหลือง ใบไม้ และ ทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หากเกษตรกรเลือกใช้ควรมั่นใจว่าจะมีระบบน้ำที่มีมาตรฐานเพียงพอเพื่อที่จะสามารถชะล้างธาตุอาหารคลอไรด์ออกไปได้ ไม่ให้ตกค้างในปริมาณมากจนเกินไป
2. ปุ๋ยซัลเฟต หรือ ปุ๋ยซัลเฟตแท้ 100% คือปุ๋ยที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของธาตุอาหารซัลเฟอร์ (S) ทดแทนวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของธาตุอาหารคลอไรด์ (Cl) ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีอัตราส่วนของซัลเฟอร์ (S) สูงเป็นพิเศษ และ มีอัตราส่วนของคลอไรด์ (Cl) ที่ต่ำ หรือ อาจไม่มีเลย
- ข้อดี ของปุ๋ยซัลเฟตในสวนทุเรียน: มีอัตราส่วนของธาตุอาหารซัลเฟอร์ (S) ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญในช่วงการบำรุงผลผลิตทุเรียน โดยมีส่วนช่วยในการสร้างสี สร้างกลิ่น และ สร้างรสชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน นอกจากนี้ ด้วยปริมาณธาตุอาหารคลอไรด์ (Cl) ที่ต่ำ หรือ อาจไม่มีเลย ก็ทำให้ปุ๋ยซัลเฟตเป็นทางเลือกที่ดีที่จะใช้ในการบำรุงต้นทุเรียนเล็ก ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อธาตุอาหารคลอไรด์
- ข้อด้อย ของปุ๋ยซัลเฟตในสวนทุเรียน: เป็นปุ๋ยรูปแบบพิเศษซึ่งอาจหาซื้อได้ยากกว่าปุ๋ยรูปแบบทั่วไปอย่างปุ๋ยคลอไรด์ และ มักมีสูตรให้เลือกใช้น้อยกว่าปุ๋ยคลอไรด์ และ มักจะมีราคาต่อหน่วยธาตุอาหารที่สูงเพิ่มขึ้นมาจากปุ๋ยคลอไรด์
3. ปุ๋ยเกล็ดระบบน้ำ หรือ ฉีดพ่นทางใบ คือปุ๋ยที่อยู่ในรูปแบบผลึก หรือ ผง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พร้อมละลายได้ทันทีเมื่อสัมผัสความชื้น สามารถละลายน้ำได้หมด 100% ภายในระยะเวลาสั้น เหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างรวดเร็ว
- ข้อดี ของปุ๋ยเกล็ดในสวนทุเรียน: เป็นปุ๋ยที่มีความสามารถในการละลายน้ำยอดเยี่ยม ทำให้ต้นทุเรียนสามารถดูดซึมธาตุอาหาร นำไปใช้ และ แสดงผลออกมาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการใช้งานปุ๋ยเม็ดโดยทั่วไป โดยเกษตรกรสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบ ระบบน้ำ ฉีดพ่นทางใบ หรือ โรยโดยตรงรอบโคนต้นแล้วรดน้ำตาม
- ข้อด้อย ของปุ๋ยเกล็ดในสวนทุเรียน: อยู่ในรูปแบบปุ๋ยเกล็ด แบบผลึก หรือ ผง ซึ่งชาวสวน และ เกษตรกรหลายๆท่านอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปุ๋ยทุเรียน ติดต่อ YVP GROUP
หรือ ติดต่อเรา
ปุ๋ยทุเรียนเล็ก
ปุ๋ยทุเรียนเล็ก อายุน้อยกว่า 1 ปี ใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 ซัลเฟตแท้ 100% YVP หรือ แนนซี่ ตอบโจทย์กับการเร่งต้น เร่งใบ เร่งการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนเล็ก ช่วยลดโอกาสเกิดใบไหม้ ใบเหลือง ในต้นทุเรียนเล็ก จากธาตุอาหารคลอไรด์สะสม โดยปุ๋ยสูตร 25-7-7 มีธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ในปริมาณมากถึง 25% พร้อมมีธาตุอาหาร ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) อยู่ที่ 7% ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับต้นทุเรียนเล็ก ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต บำรุงให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง เตรียมพร้อมกับการให้ผลผลิต
นอกจากนี้ ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ซัลเฟตแท้ 100% จาก YVP และ แนนซี่ ยังมีส่วนผสมของธาตุอาหารรองเสริม ได้แก่ ซัลเฟอร์ (S) แมกนีเซียม (Mg) และ โบรอน (B) ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชดูดซึม และ ใช้งาน ธาตุอาหารหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นแข็งแรง สมบูรณ์ ทนทานต่อโรค และ แมลง
ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ซัลเฟตแท้ 100% จาก YVP และ แนนซี่ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์กับสวนทุเรียนทั่วไปทั้งหมด โดยเฉพาะสวนที่อาจไม่สามารถเข้าถึงน้ำในปริมาณมากได้ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อธาตุอาหารคลอไรด์ (Cl) สะสม และส่งผลกระทบต่อต้นทุเรียนเล็กที่มีความอ่อนไหว
ปุ๋ยทุเรียนเล็กสูตร 25-7-7 ในรูปแบบคลอไรด์ YVP เป็นอีกทางเลือกในการเร่งต้น เร่งการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนเล็ก แต่จะเหมาะสำหรับสวนทุเรียนที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอเพื่อช่วงชะล้างธาตุอาหารคลอไรด์ (Cl) ให้เจือจางได้ เนื่องจากหากสะสมในปริมาณมากจนเกินไปเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตต่อต้นทุเรียนเล็กได้ ทำให้ใบเหลือง ใบไหม้ ลำต้นโตช้า ไม่สมบูรณ์
ปุ๋ยบำรุงและฟื้นฟูต้นทุเรียน
ต้นทุเรียนเล็กอายุ 2 – 3 ปี หรือ ต้นทุเรียนภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น ใช้ปุ๋ยสูตร 17-17-17 ซัลเฟตแท้ 100% YVP หรือ แนนซี่ เพื่อบำรุงต้น โดยใช้ในอัตรา 1 – 3 กิโลกรัมต่อต้น เป็นปุ๋ยสูตรเสมอรูปแบบพิเศษที่มีอัตราส่วนของธาตุอาหาร NPK แต่ละธาตุอาหารสูงถึง 17% พร้อมธาตุอาหารรองเสริมได้แก่ ซัลเฟอร์ (S) แมกนีเซียม (Mg) และ โบรอน (B) ช่วยบำรุง และ ฟื้นฟูต้นทุเรียน ให้สมบูรณ์ ใบเขียวเข้มแข็งแรง ทนต่อโรค และ พร้อมที่จะให้ผลผลิตที่ดีได้ในรอบต่อไป
อีกทางเลือกในการบำรุงต้นทุเรียนคือปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในรูปแบบคลอไรด์ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยสูตร 17-17-17 ซัลเฟตแท้ 100% ได้เช่นกัน โดยเมื่อต้นทุเรียนเติบโตมากขึ้น ก็จะเริ่มมีความอดทนต่อธาตุอาหารคลอไรด์ (Cl) ที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับสวนที่มีระบบน้ำที่ดี หรือ เป็นพื้นที่ ที่ได้รับปริมาณน้ำฝนที่มากเพียงพออยู่แล้ว ปุ๋ยในรูปแบบคลอไรด์ (Cl) ซึ่งมักมีต้นทุนต่ำกว่า จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะสามารถช่วยลดต้นทุน โดยยังคงมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับปุ๋ยซัลเฟตแท้ 100%
นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พีทมอสคลาสแมน ในการปรับปรุงดิน เพื่อช่วยบำรุง และ ฟื้นฟูต้นทุเรียนได้อีกด้วย โดยพีทมอสคลาสแมน เป็นวัสดุปลูกที่มีคุณภาพสูง มีความสะอาดสูง มีอินทรีย์วัตถุ มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วงกักเก็บน้ำ และ อากาศได้ดีเยี่ยม ช่วยให้ต้นทุเรียนซึ่งมีระบบรากตื้น สามารถเจริญเติบโตได้ดี หาอาหาร และ ดูดซึ่มธาตุอาหารได้ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปุ๋ยทุเรียนระยะสร้างใบที่ 1 – 2
ทุเรียนในระยะสร้างใบที่ 1 และ 2 ใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ซัลเฟตแท้ 100% YVP หรือ แนนซี่ ในอัตรา 2 – 3 กิโลกรัมต่อต้น มีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ที่สูง ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของใบ เร่งใบให้แก่ เตรียมพร้อมสำหรับการทำใบในชุดที่ 3 หรือ ทำดอก และ สะสมอาหาร
ในช่วงของการสร้างใบ เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยเกล็ดออคิเดนซ์ สูตร 25-7-18 ซึ่งเป็นปุ๋ยกินไว สามารถใช้ควบคู่กับปุ๋ยเม็ด หรือ ทดแทนปุ๋ยเม็ด เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อนได้ โดยสามารถโรยในบริเวณโคนต้นได้โดยตรง และ ให้น้ำตาม ด้วยคุณสมบัติที่พร้อมละลายน้ำทันทีเมื่อสัมผัสความชื้น ต้นทุเรียนจึงจะได้รับสารอาหารอย่างรวดเร็วภายหลังการใช้งาน ช่วงทำให้ใบแก่อย่างรวดเร็ว เตรียมพร้อมสำหรับการทำใบในรอบที่ 3 ได้อย่างทันท่วงที
ปุ๋ยทุเรียนสะสมอาหาร ระยะใบชุดที่ 3 ใบเพสลาด และ ระยะทุเรียนออกดอก
ปุ๋ยสะสมอาหารทุเรียนช่วงทุเรียนออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ซัลเฟต ในอัตรา 2 – 3 กิโลกรัมต่อต้น มีอัตราส่วนธาตุอาหาร NPK ที่ตอบโจทย์ต่อการสะสมอาหารในทุเรียนช่วงออกดอกช่วยเร่งดอกทุเรียน เป็นสูตรพิเศษที่มีส่วนผสมของธาตุอาหารซัลเฟอร์ (S) ในปริมาณสูง ช่วงเตรียมพร้อมในการบำรุงผลผลิตทุเรียน และ ยังมีธาตุอาหารรองเสริม โบรอน (B) และ แมกนีเซียม (Mg) ที่มีส่วนช่วยในการติดขั้วดอก ทำให้ดอกติดเยอะ ผลผลิตดี
นอกจากนี้ ขาวสวนทุเรียน ยังสามารถเลือกใช้ปุ๋ยเกล็ดออคิเดนซ์ สูตร 8-24-24 ซึ่งเป็นปุ๋ยกินไว สามารถใช้ควบคู่ไปกับปุ๋ยเม็ดได้ด้วย ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการสะสมอาหารที่เพียงพอ ทำให้ใบเขียว แก่สมบูรณ์ พร้อมให้ผลผลิตที่ดีได้
ปุ๋ยทุเรียนติดลูก ระยะไข่ไก่ ทำทรง
ทุเรียนระยะเริ่มติดลูก ไข่ไก่ ใช้ปุ๋ยสูตร 17-17-17 ซัลเฟตแท้ 100% ในการช่วยทำทรง มีธาตุอาหารหลักครบถ้วน พร้อมมีธาตุอาหารรองเสริม ได้แก่ ซัลเฟอร์ (S) แมกนีเซียม (Mg) และ โบรอน (B) สามารถช่วยขยายลูกได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำให้ลูกบิดเบี้ยว หรือ ทำให้ภูเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน พร้อมช่วยบำรุงต้น และ ใบ ให้แข็งแรง ทนต่อโรค และ แมลง ทำให้ได้ผลผลิตดี
ปุ๋ยทุเรียนขยายผล สร้างเนื้อ ทำหวาน
ทุเรียนช่วงขยายผล ใช้ปุ๋ยสูตร 12-5-25 ซัลเฟตแท้ 100% ในปริมาณ 1 – 2 กิโลกรัมต่อต้น มีอัตราส่วนธาตุอาหาร NPK ที่ตอบโจทย์ต่อการบำรุงผลผลิตลูกทุเรียน เป็นสูตรพิเศษที่มีธาตุอาหารซัลเฟอร์ (S) ในปริมาณมาก ซึ่งมีส่วนช่วยสำคัญในการสร้างสี สร้างกลิ่น และ สร้างรสชาติ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของลูกทุเรียน
การปลูกและการดูแลต้นทุเรียน
พื้นที่ปลูกทุเรียนที่เหมาะสม
- ดิน มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำได้ดี มีหน้าดินลึกกว่า 50 เซนติเมตร และ มีความเป็นกรดด่าง 5.5 – 6.5 โดยเกษตรกรสามารถเลือกใช้พีทมอสคลาสแมน ในการช่วยปรับสภาพดินให้เหมาะสมแก่การปลูกทุเรียนได้
- สภาพอากาศ ร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,600 – 3,000 มิลลิเมตร / ปี และ มีความชื้นสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ 30
- แหล่งน้ำ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของต้นทุเรียน ประมาณ 600 – 800 ลูกบาศก์เมตร / ไร่ มีความเป็นกรดด่าง ประมาณ 6 – 7
- พื้นที่ดอน หากเป็นพื้นที่ดินเหนียวที่ระบายน้ำได้ไม่ดี ควรมีการไถพรวนเพื่อป้องกันน้ำขัง สามารถใช้พีทมอสคลาสแมน เพื่อให้ดินสามารถอุ้มอากาศได้มากขึ้น และ ลดโอกาสน้ำขังได้
- พื้นที่ลุ่นควรมีการยกโคก โดยนำดิน หรือ ดินพีทมอสคลาสแมน มาเทกองให้สูงประมาณ 0.75 – 1.2 เมตร รอให้ดินคงตัว แล้วจึงค่อยนำต้นทุเรียนเล็กมาปลูก
การดูแลต้นทุเรียนเล็กก่อนให้ผลผลิต
- หลังปลูก 1 – 1.5 ปี ควรตัดแต่งให้มีลำต้นเดี่ยว กำหนดกิ่งประธาน แต่ละกิ่งควรห่างกัน 10 – 15 เซนติเมตร กิ่งประธานแต่ละกิ่งมีกิ่งรอง 3 – 4 กิ่ง และ กิ่งรองแต่ละกิ่งให้มีกิ่งแขนงพอประมาณ โดยที่ไม่ให้บดบังแสงซึ่งกันและกัน
- ควรมีการปรับสภาพดินอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ปุ๋ยคอก หรือ ใช้พีทมอสคลาสแมน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
การดูแลต้นทุเรียนช่วงให้ผลผลิต
- ควรตัดแต่งกิ่งแห่ง กิ่งหัก และ กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หรือ เป็นโรค เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ควบคุมความสูงของต้นให้อยู่ในระยะ 5 – 6 เมตร หรือ 6 – 8 เมตร
- ควรมีการตัดหญ้าก่อนหว่านปุ๋ยทางดิน
- ควรมีการใช้งานสารป้องกันโรค และ แมลง ในช่วงระยะแตกใบอ่อน
- ควรตัดกิ่งแขนงก่อนการออกดอก และ เสริมด้วยการพ่นอาหารเสริม และ ป้องกันโรค และ มีการหยุดให้น้ำประมาณ 14 วัน
- ต้องมีการให้น้ำเพื่อกระตุ้นการออกดอก โดยให้น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อ ครั้ง แล้วงดน้ำต่ออีก 4 – 5 วัน โดยให้สังเกตใต้ท้องกิ่งทุเรียน ว่ามีการติดตาดอกหรือไม่ หากเริ่มมีการแตกตาดอก ให้ทำการให้น้ำครั้งละน้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อดอกทุเรียนเริ่มเข้าสู่ระยะเหยียดตีนหนู ให้ค่อยๆเพิ่มปริมาณน้ำขึ้นทีละน้อย และ ก่อนดอกบาน 4 – 7 วัน ควรลดปริมาณการให้น้ำลง เพื่อทำให้เกสรดอกตัวเมียมีความเหนียว เตรียมพร้อมสำหรับการผสม
- ในระยะไข่ไก่ ชาวสวนควรตัดแต่งผลทุเรียนที่ไม่สมบูรณ์ หรือ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมออก โดยให้คงเหลือไว้ประมาณ 2 – 3 เท่า ของจำนวนผลสุดท้ายที่ต้องการ
- ในระยะกระป๋องนม ชาวสวนสามารถเลือกผลทุเรียนที่มีความสมบูรณ์สูง ที่ต้องการเก็บไว้ได้ แล้วจึงทำการตัดผลทุเรียนอื่นๆออก ในระยะนี้ควรเริ่มมีการโยงกิ่งเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงต่อการรับน้ำหนักผลทุเรียน
- สุดท้ายชาวสวนควรตัดทุเรียนเมื่อมีความแก่ประมาณ 75% หรือ วัดแป้งได้ประมาณ 32% โดยมีการตรวจวัด 3 – 4 วันก่อนการเก็บเกี่ยว โดยเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ไม่ควรวางผลทุเรียนในพื้นดิน
โรคในการปลูกทุเรียน
1. โรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไฟทอปธอร่า (Phytophthora)
- อาการ: ต้นจะมีอาการคราบน้ำหยดไหล และ เปียกเป็นสีแดง รากจะมีอาการเน่าทั้งรากฝอย และ รากแขนง เปลือกรากจะหลุดลอก และ ผลจะเน่าตั้งแต่ผลอ่อนบนต้น
- การรักษา: สกัดแผลออกให้เห็นเนื้อไม้ แล้วทาด้วยปูนแดง หรือ เมทาแลกซิล 25% ในอัตรา 50 – 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในต้นแผลใหญ่ ให้ใช้ฟอสฟอนิกแอซิด 40% เอสแอล อัตรา 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 15 ลิตร ใส่เข็มฉีดยาเพื่อฉีดลงบนต้น
2. โรคใบติดทุเรียน หรือ ใบไหม้ จากเชื้อรา Rhizoctonia solani
- อาการ: แผลช้ำ มีขนาดไม่แน่นอนทั่วใบ ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีอาการลุกลามไปที่ใบข้างเคียง เกิดจากเชื้อราที่สะสมในดิน
- การรักษา: พ่นสารวาลิดามัยซิน 3% เอสแล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ สารเฮกซะโคลนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้า 20 ลิตร
3. โรคกิ่งแห้งและต้นแห้ง เชื้อ Fusarium sp
- อาการ: เชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ที่พบชัดเจนที่สุดคืออาการเกิดที่ปลายกิ่งทุเรียน โดยจะมีสีแดงอมม่วง กิ่งจะเริ่มแห้ง เนื้อเยื่อลีบ และ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในสภาพอากาศชื้นจะพบเชื้อราเป็นสีขาวถึงชมพู ต้นที่อาการรุนแรงใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และ หลุดร่วง กิ่งจะแห้ง
- การรักษา:ใช้ไตรโคเดอร์มา พ่นลงในดิน อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
4. แอนแทรคโนส เชื้อ Colletotrichum Zibethinum
- อาการ: ทำลายช่อดอกในระยะช่อบาน ทำให้ดอกมีสีคล้ำ มีอาการเน่าดำ ก่อนที่จะบาน มีราสีเทาดำ ปกคลุมเกสรกลีบดอก ทำให้ดอกแห้ง และ ร่วงหล่น
- การรักษา: ตัดแต่งพุ่มให้โปร่ง และ ฉีดพ่นด้วย mancozeb ผสมหรือสลับ กับ carbendazim
อาการขาดปุ๋ย และ ธาตุอาหารในต้นทุเรียน
- ทุเรียนขาดไนโตรเจน (N): ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (chlorosis) โดยเริ่มจากปลายใบ เกิดที่ใบแก่ก่อน หากขาดธาตุอาหารรุนแรงจะเกิดทั่วทั้งต้น กิ่งก้านจะเล็กลีบ ต้นเล็กแคระแกร็นไม่สมบูรณ์
- ทุเรียนขาดฟอสฟอรัส (P): ใบล่างจะเริ่มมีสีม่วงตามแผ่นใบ และ ใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น ลำต้นจะแคระแกร็น ไม่ผลิดอกออกผล
- ทุเรียนขาดโพแทสเซียม (K): ใบจะเหลือง ใบไหม้ และ แห้งตาย (necrosis) โดยอาการจะเริ่มจากขอบใบ แผ่นใบเกิดเป็นจุดสีน้ำตาลแห้ง ใบเหี่ยวง่าย มักเกิดที่ใบแก่ก่อน
- ทุเรียนขาดแคลเซียม (Ca): ใบที่เจริญใหม่จะหงิกงอ ตายอดจะไม่เจริญ อาจมีจุดดา ที่เส้นใบ รากสั้น ขั้วผลไม่แข็งแรง หลุดร่วงได้ง่าย ผลแตกและมีคุณภาพไม่ดี
- ทุเรียนขาดแมกนีเซียม (Mg): แผ่นใบเหลืองแต่เส้นใบเขียว เนื้อเยื่อใบตายเป็นหย่อมๆ เป็นจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วใบแก่ อาการจะเกิดที่ใบแก่ก่อน และใบจะร่วงหล่นเร็ว
- ทุเรียนขาดกำมะถัน (S): แผ่นใบสีเหลืองแต่เส้นใบยังเขียว เกิดที่ใบอ่อนก่อน ยอดจะชะงักการเจริญเติบโต
- ทุเรียนขาดโบรอน (B): ตายอดตายและเริ่มมีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยืดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็กหนาโค้งและเปราะ ขั้วผลไม่แข็งแรง หลุดร่วงได้ง่าย
พันธุ์ทุเรียนยอดนิยม
ทุเรียนหมอนทอง
- ลักษณะต้น: ลำต้นสูง 25-50 เมตร ใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ดอกสีเหลืองจำนวนมากถึง 30 ดอก กลีบดอก 3 กลีบ กว้าง 5-7 เซนติเมตรเชื่อมติดกัน เป็นรูประฆัง ดอกจะบานตอนกลางคืน
- ลักษณะผล: ทรงผลค่อนข้างยาวใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3 – 4 กิโลกรัมต่อลูก ปลายผลแหลม มีบ่าผล เปลือกมีหนามแหลม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป
- จุดเด่น: ลูกใหญ่ เนื้อเยอะ กลิ่นไม่แรงมาก รสหวานมัน เมื่อสุกงอมแล้วจะไม่แฉะ นิยมนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวน ทุเรียนแช่แข็ง เป็นพันธ์ที่ได้รับความนิยมสูง หาได้ง่ายตามท้องตลาด
ทุเรียนชะนี
- ลักษณะต้น: เป็นไม้ยืนต้นมีทรงพุ่มสูงโปร่ง ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นไมเนื้อแข็ง ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปทรงไข่ออกดอกเป็นช่อ มีลักษณะรูปทรงระฆังกลีบดอกมีสีขาว
- ลักษณะผล: ผลมีลักษณะทรงกลม ยาวรี ผิวเปลือกหนาแข็ง มีหนามแหลมยาว
- จุดเด่น: เนื้อสีเข้ม เหนียว มีเส้นใยมาก กลิ่นแรงชัดเจน เมื่อสุกงอมแล้วจะยิ่งมีกลิ่นชัดเจนมากขึ้น รสหวานจัดเด่นชัด นิยมนำไปทำขนม สามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป
ทุเรียนก้านยาว
- ลักษณะต้น: ลำต้นขนาดปานกลางปานกลาง ออกดอกปานกลาง มักให้ผลน้อย ลักษณะแผ่นใบ เป็นทรงรีจนถึงเรียวยาว ฐานใบเป็นรูปเหลี่ยมป้าน ปลายใบแหลมและงอโค้ง
- ลักษณะผล: มีทั้งทรงหวด และ ทรงกลม มักจะมีประมาณ 6 พูหนามมีลักษณะโตเกือบเสมอกัน เปลือกค่อนข้างหนา มีเนื้อละเอียด
- จุดเด่น: ลูกใหญ่ ก้านยาว เนื้อละเอียด เหนียวนุ่ม เส้นใยน้อย สุกแล้วไม่แฉะเสียรูป
ทุเรียนกระดุมทอง
- ลักษณะต้น: ทรงต้นดี มักปลูกง่ายกว่าพันธ์อื่นๆ ใบใหญ่ป้อม กลางใบยาวเรียวแหลม
- ลักษณะผล: มีผลทรงกลม ขนาดเล็ก เปลือกบาง หนามเล็ก สั้น และ ถี่
- จุดเด่น: ลูกขนาดเล็กมาก เนื้อบาง รสชาติออกหวาน แต่ไม่มันมาก มักจะมีราคาถูกเพราะมีเนื้อน้อยเมื่อเทียบกับพันธ์อื่นๆ
ทุเรียนนกหยิบ
- ลักษณะต้น: เป็นทุเรียนพันธ์พื้นเมืองจันทบุรี ลักษณะทรงพุ่มใหญ่ และ แข็งแรง การแตกของกิ่งมักจะไม่เป็นระเบียบ ลักษณะดอกเป็นรูปทรงกลม
- ลักษณะผล: ผลโต ทรงอ้วนป้อม กลางผลมีลักษณะป่องออก บริเวณก้นผลจะย้อยออกมาไม่แหลม มีลักษณะคล้ายทุเรียนหมอนทอง แต่จะมีหนามที่ละเอียด ถี่ มากกว่า
- จุดเด่น: เนื้อมีสีเหลืองนวล ทรงอ้วนป้อม รสชาติหวาน มัน คล้ายทุเรียนหมอนทอง
อ่านแล้วให้ความรู้ดีมากครับ หวังว่าความรู้เกล่าผ่านการวิเคราะห์อย่างครบถ้วนแล้ว
ขอบคุณค่ะคุณสำราญ ยินดีที่ข้อมูลเป็นประโยชน์ค่ะ