ปุ๋ยเคมีคืออะไร? มีอะไรบ้าง? อันตรายไหม? ข้อดีข้อเสียอย่างไร?

Chemical fertilizer

ที่มา: วารสารเกษตรอภิรมย์ – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – ฉบับที่ 30 ปีที่ 6 เดือน กันยายน – ธันวาคม 2563

โดย: คุณ วรารัตน์ วีรยวรางกูร – กรรมการบริหาร YVP Group, อดีตนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย

สารบัญ:

 

ปุ๋ยเคมีและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุคปัจจุบันที่มีการรณรงค์มากเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มักจะมีคำถามเสมอว่าอะไรบ้างที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม?

สำหรับในแวดวงเกษตรกรรมเองก็เช่นกัน หัวข้อของการใช้ปุ๋ยเคมีและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง มีความเชื่อที่ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีจะเป็นการทำลายและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการด่วนสรุปเกินไป

เราควรมาทำความเข้าใจและรู้จักปุ๋ยเคมี รวมถึงความต้องการของพืชต่อปุ๋ยเคมี วิธีการใช้ปุ๋ยเคมีที่ให้ผลลัพธ์เป็นบวก เราจึงจะรับรู้ว่า สิ่งแวดล้อมจะถูกกระทบในทางลบ ต่อเมื่อมีความไม่พอดีเกิดขึ้น มากไปหรือน้อยไป ผิดที่หรือผิดเวลา

ดังนั้น หากเรามีความเข้าใจและสามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้

 

ปุ๋ยคืออะไร?

ด้วยนิยามตามพระราชบัญญัติปุ๋ย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2550 “ปุ๋ย” คือ สารอินทรีย์ อินทรีย-สังเคราะห์ อนินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทําขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารพืชได้ ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กายภาพ หรือชีวภาพในดินเพื่อบํารุงความเติบโตแก่พืช

ปุ๋ยเคมีเม็ด ปุ๋ยเคมีโพแทสเซียม

 

เคมีคืออะไร?

พจนานุกรมได้ให้ความหมายของ “เคมี” ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ และปฏิกิริยาของสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์และสารอื่นๆ อย่างเป็นระบบ

ดังนั้น เมื่อ “เคมี” คือ ศาสตร์หนึ่ง เหตุใดเราจึงหวาดกลัวกับคำว่า “เคมี” เหตุใดเราจึงมองว่าสิ่งใดก็ตามที่มีคำว่า “เคมี” อยู่ในนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย ทั้งที่สิ่งของเครื่องใช้รอบตัวเรา เช่น เครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยารักษาโรค วิตามินอาหารเสริม หรือ โปรตีนสกัด ล้วนมาจากกระบวนการทางเคมีทั้งสิ้น และเช่นเดียวกับสิ่งของมากมายที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการทางเคมี ปุ๋ยเคมี ก็ไม่ใช่สิ่งที่อันตรายแต่อย่างใด

 

ปุ๋ยเคมีคืออะไร?

ตามนิยามพระราชบัญญัติปุ๋ย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2550 “ปุ๋ยเคมี” คือปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรียสังเคราะห์

หากพิจารณาจากนิยามข้างต้น จะเห็นว่า ไม่ว่าปุ๋ยประเภทใด ก็คือ ธาตุอาหารพืช ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช หากเปรียบเทียบพืชกับมนุษย์ ธาตุอาหารพืชก็เปรียบดั่งอาหารของมนุษย์ หากมนุษย์เราต้องการมีร่างกายที่แข็งแรง มีพลังงานเพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละวัน เราก็ต้องรับประทานอาหารให้ครบหมู่ คัดสรรอาหารที่ดีและสมบูรณ์เพื่อมาบำรุงร่างกาย

มนุษย์ต้องทานข้าวทานแป้งซึ่งให้คาร์โบไฮเดรตเพื่อเสริมสร้างพลังงาน เราต้องทานเนื้อสัตว์หรือถั่วซึ่งให้โปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เราต้องทานผักและผลไม้เพื่อให้ได้รับวิตามินที่เพียงพอและมีระบบขับถ่ายที่ดี และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องดื่มน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของร่างกาย

เช่นเดียวกับอาหารสำหรับมนุษย์ ปุ๋ยก็คือสิ่งที่ให้ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ปุ๋ยแต่ละชนิดที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันเพื่อมอบธาตุอาหารที่แตกต่างกัน มนุษย์ต้องรับประทานอาหารให้ครบหมู่ฉันใด พืชก็ต้องการธาตุอาหารที่ครบหมู่ฉันนั้น

fertilizer

เมื่อเราเรียนรู้ว่า พืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารที่แตกต่างกัน ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงมีการพัฒนาธาตุอาหารของพืชขึ้นให้เป็นปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี ที่มีธาตุอาหารที่ชัดเจนและสามารถถูกนำไปให้พืชได้ใช้งานอย่างตรงจุดและเต็มประสิทธิภาพ เมื่อใช้อย่างถูกต้อง

 

ปุ๋ยเคมีมีอะไรบ้าง?

หากเราแบ่งตามความต้องการของพืช ปุ๋ยเคมี หรือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่

  1. ธาตุอาหารหลัก: คือธาตุอาหารที่พืชต้องใช้ในปริมาณมาก แบ่งออกเป็น 3 ธาตุอาหารได้แก่:
    • ไนโตรเจน (N) – ถือเป็นธาตุอาหารที่สำคัญของพืช เป็นส่วนประกอบสำคัญในการใช้สร้างคลอโรฟิลล์ ที่ทำให้พืชใบเขียว และ ลำต้นแข็งแรง
    • ฟอสฟอรัส (P) – เป็นอีกธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลโดยตรงต่อรากและดอกของพืช
    • โพแทสเซียม (K) – เป็นธาตุอาหารที่ส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต ช่วยเพิ่มขนาด น้ำหนัก และ ความหวานให้แก่ผลไม้ หรือ ผลผลิต
  2. ธาตุอาหารรอง: คือธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณที่น้อยลงมา แต่ยังคงต้องการ แบ่งออกเป็น 3 ธาตุอาหารได้แก่:
    • กำมะถัน (S) – เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้พืชสามารถดูดซึม และ ใช้งาน ไนโตรเจน (N) ได้อย่างเต็มที่
    • แคลเซียม (Ca) – นอกจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใบและลำต้นแข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลำเลียงธาตุอาหารอื่นๆให้พืชใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
    • แมกนีเซียม (Mg) – เป็นอีกธาตุอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างคลอโรฟิลล์ ที่ทำให้พืชใบเขียว และ ลำต้นแข็งแรง
  3. ธาตุอาหารเสริม: คือธาตุอาหารอื่นๆที่พืชต้องการ แต่ต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยได้แก่:
    • โบรอน (Boron)
    • ธาตุเหล็ก (Iron)
    • ซิงค์ (Zinc)
    • คลอไรด์ (Chloride)
    • และอื่นๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก Wikipedia

 

ปุ๋ยเคมีมีอันตรายหรือไม่? มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่?

ในเมื่อปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เหตุใดจึงมีคำกล่าวที่ว่าปุ๋ยเคมีเป็นอันตรายต่อดินและสิ่งแวดล้อม คำตอบคือ สิ่งใดๆ ก็ตามที่ใช้มากเกินไปย่อมไม่เป็นผลดี สาระสำคัญของการให้ปุ๋ยแก่พืชจึงอยู่ที่การใช้ให้เหมาะสม เหมาะสมตามเวลา ปริมาณ และชนิดของพืช

หากกลับไปเปรียบเทียบกับมนุษย์ การทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มากเกินไป ก็ย่อมก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรืออื่นๆ ถ้าหากว่าเราทานตอนดึกๆ ก็มักจะทำให้เราเจ็บป่วย มากกว่าสบายท้อง เช่นเดียวกันกับการให้ปุ๋ยแก่พืช ถ้าหากเราใช้ปุ๋ยเคมีธาตุใดธาตุหนึ่งมากเกินไป หรือให้ผิดเวลา นอกจากจะส่งผลลบต่อพืชเองแล้ว ยังคงเป็นสารตกค้างที่ก่อให้เกิดผลลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ยกตัวอย่างเช่น การให้ปุ๋ยไนโตรเจนที่มากเกินไปจะทำให้พืชเฝือใบ และปุ๋ยไนโตรเจนยังเป็นปุ๋ยที่สลายไปกับน้ำได้มากที่สุดด้วย

หากเราสามารถใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นธาตุอาหารของพืชได้อย่างถูกต้อง ธาตุอาหารเหล่านี้จะไม่เป็นโทษ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งพืชเอง และสิ่งแวดล้อม การให้ปุ๋ยไม่ได้บำรุงแค่ตัวพืชเอง หากก็เติมธาตุอาหารลงไปในดินให้สมบูรณ์เช่นกัน เมื่อพืชดูดซึมอาหารจากดินไปมากๆ เราย่อมต้องบำรุงดินนั้น ด้วยการเติมธาตุอาหารคืนสู่ดินเช่นกัน

นอกเหนือจากปุ๋ยเคมีแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อการรักษาโครงสร้างของดินให้คงสภาพที่ดี คือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการรักษาและปรับสภาพดิน การใช้ปุ๋ยเคมี ควบคู่ไปกับปุ๋ยอินทรีย์ จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำในการบำรุงดิน ซึ่งเป็นธาตุอาหารให้กับพืช

 

กรณีศึกษาผู้ใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต พร้อมรักษาคุณภาพของดินและสิ่งแวดล้อม

 

ในกรณีนี้ จึงอยากกล่าวถึง เกษตรกรปาล์มน้ำมันที่ดิฉันเคารพ คุณพ่อมาโนช ตั้งพิรุฬห์ อายุ 82 ปี และคุณแม่อุไรวรรณ อารยสนองกุล อายุ 78 ปี จากร้านตั้งกิมแซ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน

คุณพ่อและคุณแม่เป็นเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารามาเป็นเวลายาวนาน ปัจจุบันคุณพ่อและคุณแม่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราอยู่ 3๐๐ ไร่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคุณพ่อมาโนชใช้ปุ๋ยเคมีในการดูแลบำรุงรักษาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และสร้างความแข็งแรงให้กับพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีต่อไปในระยะยาว ปัจจุบัน ปาล์มของคุณพ่อมีอายุกว่า 20 ปี ยังคงสามารถให้ผลผลิตอยู่ที่ 105 กิโลกรัมต่อทะลาย และเฉลี่ย 7 ถึง 9 ตันต่อไร่ ซึ่งถือเป็นผลผลิตที่สูงกว่าค่ามาตรฐานโดยทั่วไป

คุณพ่อกล่าวว่า ปุ๋ยเคมีก็เหมือนอาหารของพืช ยิ่งพืชให้ผลผลิตเรามาเท่าไร เราก็ยิ่งจะต้องเพิ่มอาหารกลับคืนให้พืช เพื่อให้พืชมีความสมบูรณ์อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน หากขาดธาตุอาหารเมื่อใด ต้นและใบจะไม่แข็งแรง การติดดอกออกผลก็ไม่ดี ส่งผลให้ผลผลิตไม่ดีตามไปด้วย แต่เมื่อได้รับปุ๋ย ผลผลิตก็งอกเงยตามกัน ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อยังยืนยันว่า “ปุ๋ยเคมียังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกร” เพราะปุ๋ยเคมี คืออาหารหลักของพืช ซึ่งจะทำให้พืชของเกษตรกร ได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

เกษตรกรปุ๋ยปาล์มน้ำมัน

สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณพ่อมองว่าไม่มีผลกระทบทางลบสำหรับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากว่าคุณพ่อใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่พอดีต่อความต้องการของพืช การใช้ปุ๋ยที่มากไป นอกจากสูญเสียปุ๋ยไปโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย นอกจากนั้น คุณพ่อยังบำรุงดินอยู่เสมอจากใบของปาล์มและยางพารา และการดูแลใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติมเช่นกัน

 

สรุป

ดิฉันเขียนบทความนี้ขึ้น มิได้ในฐานะของนักวิชาการ หากแต่ในฐานะของคนที่อยู่ในวงการเกษตรกรรม และวงการปุ๋ยมาเป็นเวลาหลายสิบปี มีโอกาสเดินทางไปหลายๆ ประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ผลิต และมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

จึงอยากจะมานำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่า ปุ๋ยเคมีนั้น ไม่ได้สร้างผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยเคมีคือธาตุอาหารของพืช คือสิ่งที่มีประโยชน์ที่จะทำให้พืชเจริญเติบโตแข็งแรง เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีให้ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกปริมาณ ปุ๋ยเคมีย่อมสร้างผลผลิตที่ดีให้กับเกษตรกร พร้อมกับรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

อดีตนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ให้เกียรติเชิญมาเขียนบทความแบ่งปันประสบการณ์ลงในวารสารเกษตรอภิรมย์ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้ทุกท่านเข้าใจบริบทของปุ๋ยเคมีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป